ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
“โอไมครอน” สายพันธุ์ของโควิด-19 ที่กำลังสร้างความหวาดวิตกให้กับชาวโลกในเวลานี้ ก็เพราะข้อที่น่าเป็นห่วงตามลักษณะของโปรตีนหนามว่ามีการกลายพันธุ์มากอย่างน้อย 32 ตำแหน่ง มีส่วนผสมของตำแหน่งการแพร่ระบาดเร็วคล้ายเดลต้า แต่ในขณะเดียวกันก็มีตำแหน่งของการกลายพันธุ์ที่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีคล้ายเบต้า ซึ่งด้วยลักษณะกลายพันธุ์นี้นักวิทยาศาสตร์ “มีความกังวล”ว่าอาจะทำให้เกิดการระบาดง่ายขึ้นกว่าเดิม
การส่งสัญญาณ “ความกังวล” นี้เกิดขึ้นแรงมากภายหลังจากการแถลงโดย “กลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิควิวัฒนาการเชื้อโควิด-10” ขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับกลายพันธุ์ของโควิด-19 “B.1.1.529” ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 [1]
แต่ “ความกังวล” จะเป็นจริงหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด จะต้องประเมินดูจากสถานการณ์จริงต่อไป เพราะเงื่อนไขของแต่ละประเทศ ทั้งภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม เชื้อชาติ และภูมิคุ้มกัน ไม่เหมือนกัน
ในขณะที่ทั่วโลกกำลังมุ่งเป้า “เหยื่อ” ไปที่ประเทศแอฟริกาใต้ ว่าอาจจะเป็นประเทศต้นกำเนิดของการแพร่กระจาย แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้จริงๆ ว่า มันเริ่มต้นที่แอฟริกาใต้จริงหรือไม่ นอกจากคณะนักวิจัยพบที่ประเทศแอฟริกาใต้ได้รายงานต่อองค์การอนามัยโลกให้ได้ปรากฏเท่านั้นว่ามีผู้ป่วยด้วยโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มีผู้ป่วยจำนวนมากทั่วโลกเมื่อตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคโควิด-19 แล้ว ก็ไม่ได้ตรวจลึกไปกว่านั้นว่าผู้ป่วยคนนั้นติดเชื้อด้วยสายพันธุ์อะไร นอกจากจะเป็นการสุ่มตัวอย่างของผู้ป่วยเท่านั้น ดังนั้นการตรวจพบครั้งแรกที่แอฟริกาก็อาจจะไม่สามารถยืนยันได้เสมอไปว่ามีการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนก่อนหน้านี้ในประเทศอื่นๆ ด้วยหรือไม่?
สำหรับประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 ได้มีการสั่งห้ามประเทศกลุ่มเสี่ยงในทวีปแอฟริกาเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ได้แก่ บอตสวานา เอสทวาทินี เลสโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว เข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 เพื่อป้องกันความเสี่ยงการนำเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเข้าประเทศไทย [2]
แต่เมื่อมาพิจารณาดูแล้ว ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีการประชุมในเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 และได้แถลงข่าวตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 แต่กลับสั่งประเทศกลุ่มเสี่ยงห้ามเข้าประเทศไทยให้เริ่ม ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 คำถามที่สำคัญคือระหว่างวันที่ 26 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เป็นเวลา 5 วัน ซึ่งไม่ได้มีการห้ามนักเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้าประเทศไทยนั้น เป็นการสั่งผลบังคับการห้ามเข้า “ช้าไป 5 วัน”นับจากวันที่ประเทศไทยรับรู้จากองค์การอนามัยโลกหรือไม่?
และถ้าจะพิจารณาลงไปในรายละเอียดของการแถลงของกลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิควิวัฒนาการเชื้อโควิด-10 ขององค์การอนามัยโลกแล้ว ก็จะยิ่งเห็นช่วงเวลากว่าที่องค์การอนามัยโลกจะได้แถลงในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 นั้น ความจริงแล้ว องค์การอนามัยโลกได้รับรายงานมาตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 แล้ว
ดังนั้นเมื่อองค์การอนามัยโลกได้ตัดสินใจแถลงข่าวออกมาในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ก็แปลว่าทุกประเทศทั่วโลกย่อมเสียเวลาในการรับรู้หากมาตรการป้องกันช้าไปอีก 2 วันนับตั้งแต่การรับรายงานฉบับแรกขององค์การอนามัยโลกเอง
และหากจะพิจารณาในคำแถลงเดียวกันนี้ว่าการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจเชื้อนั้นของผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนนั้น แท้ที่จริงเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ก็แปลว่านับตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ไปจนถึงวันที่องค์การอนามัยโลกแถลงข่าววันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 รวมเวลาเป็นเวลานานถึง 18 วัน ที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน จะมีโอกาสเดินทางไปในทุกประเทศที่เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ไม่ว่าจะมีความพยายามออกมาตรการให้รวดเร็วเพียงใดก็ตาม จริงหรือไม่?
และหาก “สมมุติ” ว่าผู้ป่วยคนแรกของโลกที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน เกิดขึ้นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 จริงๆ สำหรับประเทศไทยแล้วก็มีโอกาสเปิดรับผู้ป่วยที่มาจากแอฟริกาใต้ได้ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 – 1 ธันวาคม 2564 รวมเวลานาน 24 วันที่มีโอกาสจะโชคร้ายรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนด้วยหรือไม่?
ยังไม่นับว่าการตรวจพบครั้งแรกจากผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 จะไม่ได้มีความหมายว่าเป็นผู้ป่วยรายแรกจริงๆก็ได้ เพราะอาจจะมีผู้ติดเชื้อรายแรกที่ไม่ได้มีการตรวจเชื้อในรายละเอียดก่อนหน้านั้นด้วยก็ได้
โดยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้รายงานข้อมูลวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ว่า มีนักท่องเที่ยวจากประเทศแอฟริกาใต้เข้ามาในประเทศไทยประมาณ 783 รายแล้ว และจะดำเนินการตรวจเชิงรุกในกลุ่ม 738 รายนี้ต่อไป [3]
คำถามคือหากสมมุติว่าจะตรวจเชิงรุกย้อนหลังนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประทศไทยและเดินทางไปทั่วประเทศไทยแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าจะหาได้จนครบ 783 รายหรือไม่ และใช้เวลาเท่าไหร่ และข้อสำคัญก็ควรจะตรวจเชิงรุกไปให้ครอบคลุมถึงตั้งแต่ช่วงต้นเดือน “ก่อน” วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ด้วยหรือไม่?
ในขณะที่ประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มที่จะตรวจเชิงรุกย้อนหลังกับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศแอฟริกาใต้ เฉพาะระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 นั้นช้าไปหรือไม่ เพราะเท่ากับว่าหากสมมุติว่ามีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนจริง ป่านนี้ก็คงจะแพร่เชื้อไปแล้วใน 15 วันที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 จริงหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่สั่งห้ามเข้าประชาชนที่มาจากกลุ่มประเทศเสี่ยงในทวีปแอฟริกา แต่ยังมีอีกหลายประเทศจำนวนมากได้ออกมาตรการคุมเข้มจากประเทศเหล่านี้เช่นเดียวกัน แต่ก็อาจจะช้าไปแล้วด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกัน
โดยรายงานจากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ว่ามีประเทศเริ่มพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนไปแล้วหลายประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย 7 คน, ออสเตรีย 1 คน, เบลเยี่ยม 1 คน, บอตสวานา 19 คน, บราซิล 2 คน, แคนนาดา 6 คน, สาธารณรัฐเชค 1 คน, เดนมาร์ก 4 คน, ฝรั่งเศส 1 คน, เยอรมัน 9 คน, ฮ่องกง 4 คน, อิสราเอล 4 คน, ญี่ปุ่น 2 คน, เนเธอร์แลนด์ 16 คน, ไนจีเรีย 3 คน, นอร์เวย์ 2 คน, โปรตุเกส 13 คน, ซาอุดิอาระเบีย 1 คน, แอฟริกาใต้ 77 คน, สเปน 2 คน, สวีเดน 3 คน, สหราชอาณาจักร 22 คน [4] และกำลังมีมากว่านี้ไปทุกๆ วัน
“กลุ่มเสี่ยง” สายพันธุ์โอไมครอนนั้นอาจจะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงทวีปแอฟริกาอีกต่อไปแล้ว เพราะหากมีการแพร่เชื้อไปได้เร็วกว่าเดิมจริง ป่านนี้ทุกประเทศก็คงจะมีผู้ป่วยติดเชื้อที่มีสายพันธุ์โอไมครอนไปเรียบร้อยไปแล้ว ซึ่งอาจรวมถึงประเทศไทยด้วย
คำถามที่ตามมา คือ ถ้าสายพันธุ์โอไมครอนน่ากลัวจริงๆ ทุกประเทศในโลกใบนี้ก็อาจจะต้องยอมรับชะตากรรมในการการระบาดใหญ่อีกหนึ่งระลอกหนึ่งหรือไม่ และที่น่าคิดต่อไปก็คือการจำกัดห้ามเข้า 8 ประเทศจากทวีปแอฟริกานั้นเพียงพอและเหมาะสมจริงๆ หรือไม่?
และข้อหาที่ทวีปแอฟริกาหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศแอฟริกาใต้ กำลังเผชิญหน้าอยู่ต่อการถูกโจมตีก็คือ “การฉีดวัคซีนน้อยเกินไป”ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายและเกิดการกลายพันธุ์ง่าย ซึ่งเชื้อจะแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าเดิมจริงหรือไม่ และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้เก่งกว่าเดิมหรือไม่ และคำถามสุดท้ายที่น่าจะสำคัญที่สุดคือเมื่อป่วยแล้วทำให้อัตราการตายเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทั้งกลุ่มที่ฉีดวัคซีนและยังไม่ฉีดวัคซีน
อย่างไรก็ตาม คำแถลงของคณะที่ปรึกษาความสามารถในการแพร่ระบาด และความรุนแรงกว่า “กลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิควิวัฒนาการเชื้อโควิด-10” ขององค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ที่ทำให้โลกต้องมีความหวาดวิตก และทำให้ 8 ประเทศในทวีปแอฟริกา ถูกห้ามเข้าหลายประเทศทั่วโลก และเกิดความหวาดกลัวจนไม่มีใครกล้าเดินทางไปใน 8 ประเทศ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้กลับประเทศยากจนที่ฉีดวัคซีนน้อย เป็นธรรมจริงๆ แล้วหรือไม่?
แต่ในภาวะการระบาดของโรคร้าย ทุกประเทศก็ต้องรักประเทศตัวเองที่อยู่เหนือความเป็นธรรมต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ แต่คำถามที่ตามมาก็คือ การสั่งห้าม 8 ประเทศจากทวีปแอฟริกา รวมถึงประเทศแอฟริกาใต้เดินทางเข้าประเทศต่างๆนั้น ประเทศที่ออกมาตรการเหล่านั้นจะมีสถานการณ์ดีขึ้นจริงๆ หรือ?
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 เป็นวันที่นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบสายพันธุ์โอไมครอน ได้ส่งข้อมูลเรื่องสายพันธุ์โอไมครอนให้กับองค์การอนามัยโลกนั้น…
ช่างบังเอิญว่าวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นี้ เป็นวันเดียวกันกับที่ ประเทศแอฟริกาใต้ได้ขอบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่คือ ไฟเซอร์ และจอนห์สัน แอนด์ จอนห์สัน ให้ “หยุดส่งวัคซีน” เข้ามาในประเทศแอฟริกาใต้ เนื่องด้วยไม่ต้องการให้สะสมวัคซีนที่กำลังเสี่ยงหมดอายุมากเกินไป หากถูกนำเข้ามาโดยไม่สอดคล้องกับอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศแอฟริกาใต้ [5]-[6]
เหตุผลที่แอฟริกาใต้ทำเช่นนั้น ก็น่าจะวิเคราะห์ด้วยจากกราฟของเว็บไซต์ Our World in Data ซึ่งพบเหตุผลสำคัญ คือ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 มีประชาชนมาฉีดวัคซีนน้อยลงตามลำดับ ทั้งๆ ที่ในเวลานั้นมีประชากรมาฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มเพียงร้อยละ 23.51 เท่านั้น[7]
แต่เหตุที่ประชาชนชาวแอฟริกามาฉีดวัคซีนน้อยลงนั้น ก็อาจจะเป็นเพราะสถานการณ์การระบาดและการเสียชีวิตของโรคโควิด-19 ในประเทศแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นั้นลดน้อยลงไปอย่างมาก หรือพูดง่ายๆ คือ สถานการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ
ส่วนจะลดลงมากเพียงใดก็ให้พิจารณาสถานการณ์เปรียบเทียบที่เลวร้ายที่สุดในปี 2564 กับสถานการณ์เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ดังนี้
วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 สถานการณ์ในประเทศแอฟริกาใต้ พบ “ผู้ติดเชื้อโควิด-19” รายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วันสูงที่สุดถึง 19,955.71 คน แต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วันเหลือเพียง 647.86 คน (ซึ่งน้อยกว่าประเทศไทยเสียอีก) โดยลดลงไปเหลือเพียงร้อยละ 3.25 เมื่อเทียบกับวันที่แย่ที่สุดของแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 [7]
วันที่ 25 กรกฎาคม 2564 สถานการณ์ในประเทศแอฟริกาใต้ พบ “ผู้เสียชีวิตใหม่” จากโรคโควิด-19 ค่าเฉลี่ย 7 วันสูงที่สุดถึง 416.57 คน แต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 มีผู้เสียชีวิตรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วันเหลือเพียง 20.29 คนเท่านั้น (ซึ่งน้อยกว่าประเทศไทยเช่นเดียวกัน) และที่สำคัญลดลงไปเหลือเพียงร้อยละ 4.87 เมื่อเทียบกับวันที่แย่ที่สุดของแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 เช่นกัน [7]
ภายหลังจากหลายประเทศทั่วโลกต่างพากันมาตรการแบน ห้ามผู้เดินทางจากประเทศแอฟริกาใต้และหลายประเทศในกลุ่มทวีปแอฟริกาเข้าประเทศ วัคซีนไฟเซอร์กลับออกมาแถลงเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ว่าหากวัคซีนเดิมไม่ได้ผล ก็พร้อมจะพัฒนาวัคซีนสำหรับสายพันธุ์โอไมครอนโดยใช้เวลาเพียง 100 วันเท่านั้น [8]
ไฟเซอร์พร้อมมาก !!!
กรณีดังกล่าวมีผู้ที่ตั้งข้อสังเกตถึงความบังเอิญนี้ จะเป็นทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดใน “การประกาศ” พบสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศที่กำลังปฏิเสธบริษัทผู้วัคซีน ให้หยุดส่งเพิ่มวัคซีนให้กับประเทศแอฟริกาใต้หรือไม่ ซึ่งจะต้องหาความจริงนี้ต่อไป
สำหรับประเทศไทยนั้น ยังมีเรื่องที่อาจจะต้องมาพิจารณากันต่อว่าสถานการณ์ของประเทศไทยเมื่อเทียบกับ “8 ประเทศในทวีปแอฟริกา” ซึ่งถูกห้ามเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 กลับพบว่า
“อัตราการติดเชื้อรายใหม่” และ “อัตราการเสียชีวิต” จากโรคโควิด-19 “8 ประเทศในทวีปแอฟริกา” ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 โดยการเทียบประชากร 1 ล้านคน “น้อยกว่า” ประเทศไทยทั้งสิ้น
โดยสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8 ประเทศในทวีปแอฟริกา เทียบกับประเทศไทยมีดังนี้
“ประเทศไทย วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วัน เทียบกับประชากร 1 ล้านคนอยู่ที่ 81.15 คน” ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วันเทียบกับประชากร 1 ล้านคนอยู่ที่ 0.52 [7]
ประเทศแอฟริกาใต้ (ซึ่งห้ามเข้าประเทศไทย) ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วัน เทียบกับประชากร 1 ล้านคนอยู่ที่ 45.9 คน อัตราการติดเชื้อของประเทศแอฟริกาใต้ จึงคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 56 ของอัตราการติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทย ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วันเทียบกับประชากร 1 ล้านคนอยู่ที่ 0.49 อัตราการเสียชีวิตของประเทศแอฟริกาใต้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 94 ของอัตราการเสียชีวิตรายใหม่ของประเทศไทย [7]
ประเทศบอตสวานา (ซึ่งห้ามเข้าประเทศไทย) ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วัน เทียบกับประชากร 1 ล้านคนอยู่ที่ 24.79 คน อัตราการติดเชื้อของประเทศบอตสวานา จึงคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 30.54 ของอัตราการติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทย ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วันเทียบกับประชากร 1 ล้านคนอยู่ที่ 0.12 อัตราการเสียชีวิตของประเทศบอตสวนาจึงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.07 ของอัตราการเสียชีวิตรายใหม่ของประเทศไทย [7]
ประเทศเอสวาตินี (ซึ่งห้ามเข้าประเทศไทย) ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วัน เทียบกับประชากร 1 ล้านคนอยู่ที่ 19.25 คน อัตราการติดเชื้อของประเทศเอสวาตินี จึงคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 23.72 ของอัตราการติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทย ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วันเทียบกับประชากร 1 ล้านคนแทบไม่พบเลยเป็น 0 [7]
ประเทศซิมบับเว (ซึ่งห้ามเข้าประเทศไทย) ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วัน เทียบกับประชากร 1 ล้านคนอยู่ที่ 9 คน อัตราการติดเชื้อของประเทศซิมบับเว จึงคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 11.09 ของอัตราการติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทย ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วันเทียบกับประชากร 1 ล้านคน อยู่ที่ 0.08 อัตราการเสียชีวิตของประเทศซิมบับเวจึงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.38 ของอัตราการเสียชีวิตรายใหม่ของประเทศไทย [7]
ประเทศนามิเบีย (ซึ่งห้ามเข้าประเทศไทย) ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วัน เทียบกับประชากร 1 ล้านคนอยู่ที่ 4.53 คน อัตราการติดเชื้อของประเทศนามิเบียจึงคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 5.58 ของอัตราการติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทย ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วันเทียบกับประชากร 1 ล้านคน อยู่ที่ 0.22 อัตราการเสียชีวิตของประเทศนามิเบียจึงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.31 ของอัตราการเสียชีวิตรายใหม่ของประเทศไทย [7]
ประเทศเลโซโท (ซึ่งห้ามเข้าประเทศไทย) ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วัน เทียบกับประชากร 1 ล้านคนอยู่ที่ 2.91 คน อัตราการติดเชื้อของประเทศเลโซโทเบียจึงคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.58 ของอัตราการติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทย ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วันเทียบกับประชากร 1 ล้านคนแทบไม่พบเลยเป็น 0 [7]
ประเทศมาลาวี (ซึ่งห้ามเข้าประเทศไทย) ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วัน เทียบกับประชากร 1 ล้านคนอยู่ที่ 0.37 คนอัตราการติดเชื้อของประเทศมาลาวีจึงคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.45 ของอัตราการติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทย ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วันเทียบกับประชากร 1 ล้านคน อยู่ที่ 0.37 อัตราการเสียชีวิตของประเทศมาลาวีจึงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71.15 ของอัตราการเสียชีวิตรายใหม่ของประเทศไทย [7]
ประเทศโมซัมบิก(ซึ่งห้ามเข้าประเทศไทย) ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วัน เทียบกับประชากร 1 ล้านคนอยู่ที่ 0.23 คน อัตราการติดเชื้อของประเทศมาลาวีจึงคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.55 ของอัตราการติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยในขณะที่อัตราการเสียชีวิตรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วันเทียบกับประชากร 1 ล้านคน น้อยว่า 0.01 คน อัตราการเสียชีวิตของประเทศโมซัมบิกจึงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.923 ของอัตราการเสียชีวิตรายใหม่ของประเทศไทย [7]
เมื่ออัตราการติดเชื้อของผู้ป่วยรายใหม่ กับ อัตราการเสียชีวิตรายใหม่ในโรคโควิด-19 ของ 8 ประเทศในทวีปแอฟริกา “น้อยกว่า” ประเทศไทย คำถามคือภายใต้ตัวเลขดังกล่าวข้างต้นตกลงแล้วประเทศใดควรเป็นฝ่ายถูกแบนกันแน่?
เช่นเดียวกันกับกลุ่มประเทศยุโรปซึ่งได้ชื่อว่าเป็นทวีปที่มีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมากที่สุดในโลก กลับมาระบาดใหม่อย่างรุนแรงและกว้างขวาง กลับไม่มีประเทศใดที่จะมีมาตรการในการป้องกันการเดินทางเข้าประเทศของชาวยุโรปเลย
ทวีปยุโรป (ซึ่งสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้) ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วัน เทียบกับประชากร 1 ล้านคนอยู่ที่ 491.93 คน (ประเทศไทยอยู่ที่ 81.15 คน) อัตราการติดเชื้อผุ้ป่วยรายใหม่ต่อประชากร 1 ล้านคน ของทวีปยุโรปจึงมากกว่าประเทศไทยถึงร้อยละ 506
ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตรายใหม่ค่าเฉลี่ย 7 วันเทียบกับประชากร 1 ล้านคนของทวีปยุโรปอยู่ที่ 5.2 คน (ประเทศไทยอยู่ที่ 0.52 คน) อัตราการเสียชีวิตของทวีปยุโปรจึงคิดจึงมากกว่าประเทศไทยร้อยละ 900
เมื่อตัวเลขปรากฏเช่นนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ณ สถานการณ์จริงปัจจุบัน ยุโรประบาดมากกว่าทวีปแอฟริกา และยุโรปมีอัตราการเสียชีวิตต่อประชากรมากกว่าแอฟริกาด้วย ประเทศไทยจะต้องตั้งสติให้ดีว่าควรจะดำเนินมการมาตรการอย่างไรกันแน่?
ด้วยตรรกะในคำถามที่ว่า ถ้าเราจะใช้มาตรฐานห้ามประชาชนทวีปแอฟริกาเข้าประเทศไทย เราก็ควรห้ามประชาชนทวีปยุโรปเข้าประเทศไทยด้วยหรือไม่?
ด้วยตรรกะในคำถามที่วา ถ้าเราจะใช้มาตรฐานให้ชาวยุโรปเข้าประเทศไทย เราก็ควรให้ประชาชนที่อยู่ในทวีปแอฟริกาใต้ด้วยหรือไม่?
ด้วยตรรกะที่ย้อนแย้งกันไปมาตามที่กล่าวมาข้างต้น โดยภายหลังจากมาตรการกระทืบเศรษฐกิจประเทศแอฟริกาใต้และประเทศในทวีปแอฟริกาใต้ จนย่อยยับตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ไปแล้ว กลับไม่ค่อยมีใครรายงานข่าวชิ้นหลังขององค์การอนามัยโลก ซึ่งได้แถลงปรับปรุงข้อมูลของสายพันธุ์โอไมครอนเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 โดยมีใจความสำคัญคือ…
“ยังไม่ชัดเจนว่าสายพันธุ์โอไมครอนจะแพร่เชื้อง่ายขึ้น หรือทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ?”[9]
ถึงสถานการณ์นี้ต้องตั้งสติให้ดี เพราะยุคนี้ผลประโยชน์ในเรื่องวัคซีนและยา ยังบดบังการนำเสนอข้อมูล และข้อเท็จจริงอีกด้าน ที่อาจทำให้เราหลงประเด็นกับการระบาดหนักที่สุดอีกครั้งหนึ่งของยุโรป ทั้งๆ ที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มไปมากแล้วหรือไม่?
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
2 ธันวาคม 2564
อ้างอิง
[1] World Health Organization, Classification of Omicron (B.1.1.529): SARS-CoV-2 Variant of Concern, 26 November 2021
https://www.who.int/…/26-11-2021-classification-of…
[2] วาสนา ตาระเกตุ(เงินทูล) ผู้สื่อข่าว, ธนพิชฌน์ แก้วกา ผู้เรียบเรียง, สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย, สั่งห้าม 8 ประเทศในแอฟริกาใต้ เข้าประเทศไทย ตั้งแต่ 1 ธันวาคมนี้ ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 กลายพันธุ์โอไมครอน, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 27 พ.ย. 2564 l 19:38
https://thainews.prd.go.th/…/print…/TCATG211127193726319
[3] ทีมข่าวอาชญากรรม, ผู้จัดการออนไลน์, ผบ.ตร.สั่งตามตัว 783 นักท่องเที่ยวแอฟริกา ตรวจเชิงรุกสกัดโอไมครอน, เผยแพร่: 1 ธ.ค. 2564 16:25 ปรับปรุง: 1 ธ.ค. 2564 16:25 น.
https://mgronline.com/crime/detail/9640000119194
[4] Rob Picheta, CNN, These countries have found cases of the Omicron Covid-19 variant so far, Updated 1158 GMT (1958 HKT) December 1, 2021
https://edition.cnn.com/…/covid-omicron…/index.html
[5] Janice Kew and S’thembile Cele, Bloomberg, South Africa Asks J&J, Pfizer to Stop Sending Vaccines. 24 พฤศจิกายน 2564 16 นาฬิกา 13 นาที GMT+7 Updated on 24 พฤศจิกายน 2564 21 นาฬิกา 53 นาที GMT+7
https://www.bloomberg.com/…/s-africa-wants-j-j-pfizer…
[6] Promit Mukherjee, Reuters, EXCLUSIVE South Africa delays COVID vaccine deliveries as inoculations slow, 24 November 2021
https://www.reuters.com/…/exclusive-south-africa…/
[7] Website “Our World in Data”, Statistics and Research Coronavirus (COVID-19) Cases. Updated 30 November 2021
https://ourworldindata.org/covid-cases
[8] Yelena Dzhanova, Insider, Pfizer said an updated version of its COVID-19 vaccine will be ‘ready in 100 days’ if the new Omicron variant is resistant to its current vaccine, Nov 27, 2021, 10:33 PM
https://www.businessinsider.com/pfizer-vaccine-update-100…
[9] World Health Organization,Update on Omicron, 28 November 2021 Statement Reading time: 3 min (899 words)
https://www.who.int/news/item/28-11-2021-update-on-omicron